นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา ได้แถลงข่าวเปิดใจต่อผู้สื่อข่าว ถึงบทบาทหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนเพื่อการแก้ปัญหาความยากจน พร้อมด้วย นายสุรพงษ์ พรมเท้า ในฐานะเลขาผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งร่วมอยู่ในคณะทำงานกรรมาธิการในชุดต่างๆ ซึ่งมีทั้งหมด 27 ชุด
โดยคุณหมอพลเดช ปิ่นประทีป เปิดเผยว่า ตนเองนั้นอยู่ในคณะทำงาน 2 ชุด จากทั้งหมด 27 ชุด ซึ่งคณะทำงานที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ คือ การแก้ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ให้กับประชาชน โดยมี รองศาสตราจารย์ สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ของประชาชน ขณะที่ตนเองนั้นเป็นรองประธาน ของคณะการทำงานชุดนี้
และอีกหนึ่งชุดคณะทำงานที่ตัวเองทำหน้าที่อยู่ ในฐานะโฆษกของชุดคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีท่านเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน ซึ่งทำหน้าที่ในการติดตามการปฎิรูป และเสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ซึ่งได้บรรจุไว้เป็นกฎหมาย ที่รัฐบาลต้องปฏิบัติทำตามกฎหมาย โดยรัฐบาลจะต้องมีหน้าที่มารายงานความก้าวหน้าในการปฏิรูปประเทศ ในทุกๆ 3 เดือน
นอกจากที่ตนเองจะต้องมีหน้าที่ติดตามความก้าวหน้า ในการพัฒนาการเมือง หรือการปฎิรูปประเทศแล้ว ตนยังมีหน้าที่รับผิดชอบ ในการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาความยากจนให้กับประชาชน ที่จะต้องทำควบคู่กันไป
คุณหมอพลเดช ปิ่นประทีป ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา ยังได้กล่าวอีกว่า บทบาทหน้าที่หลักๆ ถึงแม้ตนเองจะเป็นหมอ แต่ก็ยังได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความยากจน ที่มีเครือข่ายทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ที่เชื่อมโยงถึงกันในทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล อำเภอ รวมทั้งในเขต กรุงเทพฯ โดยผ่านเครือข่ายองค์กรชุมชน ของสถาบันพัฒนาประชาสังคม (CSDI) ที่ทำงานร่วมกัน 250,000 องค์กร
และยังมีกรณีศึกษาอีกกว่า 3,000 ตัวอย่าง ในการจัดการแก้ปัญหาสุขภาพ การแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การแก้ปัญหายาเสพติด รวมถึงการแก้ปัญหา เด็กแว้น เป็นกรณีศึกษาเป็นต้น
นอกจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายสถาบันพัฒนาประชาสังคม (CSDI) ซึ่งมีชุดคณะทำงานได้เข้าไปให้การช่วยเหลือและสนับสนุนนโยบาย ร่วมถึงงบประมาณ ในบางส่วน อีกทั้งการสนับสนุนเทคโนโลยี และเทคนิคทางวิชาการ จนประสบความสำเร็จ เป็นชุมชนต้นแบบ และชุมชนเข้มแข็ง ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เพื่อการดำรงชีพของประชาชน และหลุดพ้นจากความยากจนในที่สุด ภายใต้องค์กรของสถาบันพัฒนาประชาสังคม หรือ CSDI